ฮือฮา ชาวบ้านแห่ดู “ปลาค้าวจำศิล” ที่วัดดังเมืองสองแคว

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.57 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่วัดโพธิญาณ อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีชาวบ้านจำนวนมากพากันแห่ไปดู “ปลาค้าว” ขนาดใหญ่ 3 ตัว อยู่ในวังมัจฉาของวัด โดยลอยนิ่งๆไปไม่ไปไหนและไม่กินอาหาร ไม่เหมือนปลาตัวอื่นๆ จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็น “ปลาจำศิล” ผู้สื่อข่าวจึงรีบไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

ปลาค้าวจำศิล

เมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึง พบชาวบ้านจำนวนมากมาให้อาหารปลาและดูปลาค้าว ที่ลอยอยู่ในผิวน้ำนิ่งๆไม่ขยับไปไหน แต่ทั้งนี้มีป้ายเขียนบอกไว้ว่า “ห้ามใช้ไม้หรือเหล็ก เขียปลา (จำศิล) เพราะปลาไม่ได้ติดเบ็ด หรือผูกไว้” ซึ่งได้สร้างความสงสัยให้แก่ผู้พบเห็นกันอย่างมาก ว่าจริงๆแล้วปลาได้จำศิลจริงๆหรือไม่

ทางด้านพระครูสุนทร โรจนคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธิญาณ ได้กล่าวว่า ทางวัดได้ทำวังมัจฉาที่ท่าน้ำมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อเป็นเขตอภัยทานให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาในแม่น้ำน่าน พร้อมทำขนมปังและอาหารเม็ดมาคอยบริการแก่ประชาชนนักท่องเที่ยว และญาติโยมได้ทำบุญเลี้ยงอาหารปลากระทั่งปี 2556 มีปลาค้าวขนาดใหญ่ 3 ตัว ยาวประมาณ 1-1.5 เมตร มาอาศัยอยู่เหนือแพปลา และมีพฤติกรรมแปลกประหลาด จะลอยตัวนิ่ง ๆ ว่ายทวนน้ำ ทำให้ประชาชนจำนวนมาก เกิดความสงสัย คาดว่าปลาค้าวอาจบาดเจ็บจากเบ็ด หรืออุปกรณ์หาปลาของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียง พฤติกรรมตามปกติของปลาค้าวนั่นเอง ท้ายที่สุดทางวัดเลยต้องทำป้าย “ปลาจำศีล” ซึ่งเป็นกุศโลบาย ห้ามญาติโยม ใช้ไม้-เหล็ก เขี่ยปลา รบกวนปลา มิเช่นนั้น ก็จะเกิดแผลที่หางและลำตัวปลาเป็นบาปกรรม แทนที่จะได้บุญ นั่นเอง

ทั้งนี้ “ปลาค้าว” เป็นปลาน้ำจืด เป็นปลาหนังในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน มีลำตัวยาว ค่อนไปทางหางมีลักษณะแบนข้างมาก ส่วนหัวมีขนาดใหญ่และแบน ปากกว้าง ภายในมีฟันซี่เล็ก ๆ อยู่ในขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง มีหนวด 2 คู่ โดยคู่ที่อยู่มุมปากมีลักษณะเรียวยาว ส่วนคู่ที่ใต้คางจะสั้นและเล็กมาก มีครีบทั้งหมด 7 ครีบ ครีบก้นใหญ่และยาวจรดครีบหาง ขอบปลายหางด้านบนจะใหญ่กว่าด้านล่าง ซึ่งสีสันและลักษณะลำตัวจะแตกต่างออกไปตามแต่ละชนิด ปลาค้าว พบกระจายพันธุ์โดยทั่วไปตั้งแต่ทวีปอินเดียจนถึงแหลมมลายู มีอุปนิสัยคือมักอยู่นิ่ง ๆ กับพื้นน้ำ กินอาหารจำพวกปลาขนาดเล็กกว่า และออกหากินในเวลากลางคืน.

ที่มาข่าว http://www.dailynews.co.th/Content/regional/256850/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B9_%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%A8%E0%B8%B5%E0%B8%A5_%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%A7%28%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%9B%29